การเตรียมวัตถุดิบ

การรับวัตถุดิบเข้าสู่ระบบ

การรับวัตถุดิบเข้าสู่ระบบ
เมื่อวัตถุดิบเข้ามาถึงโรงงาน ทำการชั่งน้ำหนักด้วยสะพานเครื่องชั่ง (Weighing Bridge) เพื่อเก็บข้อมูลน้ำหนักวัตถุดิบแต่ละชนิด เพื่อหาต้นทุนในการผลิต

การแปรสภาพวัตถุดิบ

วัตถุดิบบางชนิดไม่ต้องแปรสภาพก่อนนำไปทำปุ๋ยหมัก เช่น มูลสัตว์ เปลือกไม้ยูคาลิปตัส และผักผลไม้จากตลาด แต่มีวัตถุดิบบางชนิดที่มีขนาดใหญ่ เช่น ทางปาล์มน้ำมัน ทะลายปาล์มน้ำมัน ต้นปาล์มน้ำมัน หน่อและต้นสับปะรด และเหง้ามันสำปะหลัง เป็นต้น  ต้องแปรสภาพโดยการบดย่อยด้วยเครื่องย่อยแบบเคลื่อนย้ายได้ (Mobile Wood Chipper) หรือเครื่องย่อยแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Single Shaft Shredder) ให้มีขนาดเล็กกว่า 50 มิลลิเมตร เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัสในการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ช่วยลดระยะเวลาในการหมัก

การสุ่มเก็บตัวอย่าง

สุ่มเก็บตัวอย่างวัตถุดิบที่ผ่านการแปรสภาพ โดยทำการสุ่มตัวอย่างจากการ Quartering ให้เหลือประมาณ 1 กิโลกรัม นำไปทดสอบพารามิเตอร์ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณอินทรีย์คาร์บอน ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด และค่าความชื้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณหาอัตราส่วนผสมที่เหมาะสมในการทำปุ๋ยหมักร่วม (Co-Composting) การทำปุ๋ยหมักร่วมช่วยลดระยะเวลาในการหมัก เนื่องจากช่วยปรับค่าสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N ratio) ให้มีค่าเหมาะสม และยังช่วยยกระดับคุณภาพปุ๋ยหมักให้สูงขึ้น

วัตถุดิบที่กำหนดแล้ว จะถูกผสมเข้าด้วยกัน ด้วยรถตักล้อยาง ผสมหยาบๆ พร้อมทั้งปรับความชื้นวัสดุหมักให้อยู่ในช่วงที่พอเหมาะ (ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก) ด้วยการฉีดพ่นน้ำให้ทั่วถึง เมื่อนำไปตั้งกองปุ๋ยแล้ว ทำการผสมอย่างละเอียดอีกครั้งให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยเครื่องพลิกกลับกองปุ๋ย